ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป
ช่วงปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957)
สถานะการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจมีผลต่อสถาบันครอบครัว
กระแสยุควัตถุนิยม และบริโภคนิยม ทำให้หลายประเทศที่เรียกตนเองว่า ประเทศพัฒนาแล้วเกิดกระแสความกังวลว่า ประชากรของประเทศที่ถูกขนานนามว่าด้อยพัฒนา จะทวีจำนวน และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้เกิดการขาดแคลนในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือที่เรียกว่าประเทศโลกที่สาม รับกระแสความกังวล จึงมีความพยายามควบคุมจำนวนประชากร รณรงค์ให้ทำหมัน และคุมกำเนิด ด้วยการใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ประเทศไทยเริ่มก้าวสู่ “ยุคแห่งการพัฒนา” ในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลประกาศนโยบาย กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก มีนโยบายกำหนดแผนครอบครัวแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2513 สร้างวาทกรรมความคิด ปลุกกระแส “ลูกมากยากจน” “หญิงก็ได้ชายก็ดี มีแค่สอง” มีการรณรงค์อย่างกว้างขวาง ผ่านการจัดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทางหน่วยงานของรัฐ องค์กรสาธารณสุข องค์กรการศึกษา องค์กรปกครอง ทุกระดับ ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย จนเป็นแบนด์ “ถุงมีชัย” แนวคิดการทำหมัน กินยาคุม ถูกฝังซึมลึก ส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวคริสตชน ที่มีคำสอน และข้อกำหนดที่ค่อนข้างเคร่งครัด
ปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968)
พระศาสนจักรสากล สมเด็จพระสันตปาปา น. ปอลที่ 6 โอกาสสมัชชาพระสังฆราช ได้ทรงออกพระสมณสาส์น ว่าด้วยเรื่อง “ชีวิตมนุษย์” ( Humane Vitae ) สรุปเนื้อหาของสมณสาส์น คู่สมรสต้องร่วมมือกับพระเจ้าพระผู้สร้าง คำสอนเน้นความเคารพและคุ้มครองชีวิต การให้กำเนิดมนุษย์ ถือเป็นบทบาทสำคัญที่สุด ที่รับผิดชอบเพิ่มประชากรโลกอย่างอิสระ คุณค่าความรักของคู่สมรสในชีวิตการแต่งงาน และกิจกรรมความสัมพันธ์ของคู่สมรส ด้วยความรัก “เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อบรรลุความรอดนิรันดรของมนุษย์” ธรรมชาติของความรักในชีวิตสมรส การให้กำเนิดชีวิต และการเป็นพ่อแม่ที่รับผิดชอบ เป็นการตัดสินใจของมนุษย์ กระนั้นเรายอมรับว่า มีข้อจำกัดในความเป็นมนุษย์ (แต่การกระทำเหนือร่างกาย และหน้าที่ตามธรรมชาติของร่างกายนั้น เป็นความผิดพลาด เป็น “สัญญาณของความขัดแย้ง”) พระสันตะปาปา น. ปอล ที่ 6 ทรงทราบว่า สมณสาส์น “ชีวิตมนุษย์” จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง พระองค์ทรงประกาศว่า พระศาสนจักรจะไม่หลบเลี่ยงหน้าที่ของตนในการประกาศกฎธรรมชาตินี้ ทั้งในแง่ธรรมชาติ และการแพร่ธรรมอย่างมั่นคง แต่ก็ทรงถ่อมตน “เรียกร้องผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร ให้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับหลักการด้านศีลธรรม คำสอนเกี่ยวกับการแต่งงาน ซึ่งเป็นคำสอนที่อยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติ ตามที่ได้รับความกระจ่าง จากการเปิดเผยของพระเจ้าอย่างอุดม”
ด้วยเหตุนี้ การคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์ การทำหมัน และการทำแท้ง “ไม่ถือว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การกำหนดจำนวนบุตร “การวางแผนครอบครัวแบบธรรมชาติ” คือทางเลือก ที่เป็นไปตามหลักศีลธรรมการสืบพันธุ์ในชีวิตสมรส ช่วงของการเจริญพันธุ์สอดคล้องกับแผนการของพระเจ้า และ “เป็นการแสดงความรักต่อกัน และปกป้องความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน”
ช่วงปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) – 2522 (ค.ศ. 1979)
พระศาสนจักรประเทศไทย
(องค์กร เพื่อครอบครัว)
พระศาสนจักรคาทอลิกประเทศไทย ได้ให้ความสนใจในเรื่องชีวิตครอบครัว ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหน่วยงานด้านสังคมเสมอมา โดยจัดประชุมและส่งเจ้าหน้าที่ไปรับการอบรมในหัวข้อชีวิตครอบครัว ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่สุดได้ก่อตั้งหน่วยงานเฉพาะ ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2516 มีการพิจารณาเรื่องชีวิตครอบครัว 2 ครั้ง คือ การประชุมคณะแพทย์คาทอลิกในไทย เรื่องการวางแผนครอบครัว ซึ่งมีผลสรุปดังนี้คือ “เพราะความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ คนส่วนมากอยากมีลูกจำนวนน้อย ฉะนั้นควรอนุญาตให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และไม่ควรสนับสนุนวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร และการทำแท้ง และที่สำคัญคือ ควรจัดให้การศึกษาอบรมด้านชีวิตครอบครัว และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึง” ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ได้มีการประชุมผู้นำฆราวาสไทยในเรื่องเดียวกันนี้ และได้สรุปเสนอผลการประชุมดังนี้ คือ “ควรมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับ “การวางแผนครอบครัว โดยตรง ซึ่งประกอบด้วยนักบวช แพทย์ และฆราวาสที่เกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการศึกษาอบรมในเรื่องนี้แก่คาทอลิกมากขึ้น โดยคณะกรรมการพิจารณาว่า “การพูดถึงการวางแผนครอบครัว ต้องพูดถึงศีลธรรม การควบคุมตัวเอง ความรับผิดชอบ เหตุผลทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วย” ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น
ปี พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อการพัฒนา (CCTD) ได้จัดตั้งคณะทำงาน ดำเนินโครงการส่งเสริมชีวิตครอบครัว (FLP)
ภารกิจขององค์กร
ดำเนินงานตามแนวทาง คำสอนพระศาสนจักร พระสมณสาส์น เรื่อง “ชีวิตมนุษย์” ภารกิจหลัก คือให้ความรู้และวิธีการ การวางแผนครบครัว แบบวิธีธรรมชาติ (NFP) (การให้กำเนิด หรือชะลอกำเนิด)
ผลการดำเนินงาน ได้ฝึกอบรมครูชาวบ้าน ประจำวัด ในสังฆมณฑลต่างๆ เพื่อให้ความรู้ แนะนำวิธีการและติดตาม การวางแผนครอบครัวแบบวิธีธรรมชาติ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับความจริงว่าการดำเนินงานเป็นไปด้วยความยาก เหตุเพราะไม่สามารถต้านกระแสการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการสะดวกและการคุมกำเนิดได้ผลอย่างชัดเจน
ผู้รับผิดชอบองค์กร
สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อการพัฒนา (CCTD)
คณะผู้ก่อตั้ง ประกอบด้วย พระสงฆ์ นักบวช ผู้นำฆราวาส คณะแพทย์
พระสังฆราชผู้รับผิดชอบ พระสังฆราช มีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์
ผู้รับผิดชอบโครงการ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณมานา บุญคั้นผล และนางสาว วาสิณี ประกอบกิจ
ปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980 )
สถานการณ์ทางสังคม และเศรษฐกิจที่มีผลต่อสถาบันครอบครัว
การพัฒนาสังคมแบบทุนนิยม บริโภคนิยม ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นเพื่อหาอาชีพที่มีรายได้ดีกว่า เกิดการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการแยกกันอยู่ของครอบครัว การหย่าร้างมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
พระศาสนจักรสากล
สมัชชาพระสังฆราชสากล และสมเด็จพระสันตะปาปา น.ยอห์นปอล ที่ 2 ได้ทรงออกพระสมณสาส์น “ครอบครัวคริสตชน ในโลกปัจจุบัน” (FAMILIARIS CONSORTIO) โอกาสสมัชชาสากล ซึ่งให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว การอภิบาลครอบครัว การสร้างพระศาสนจักรระดับบ้าน การทำบ้านให้เป็นเสมือนเรือนเพาะชำบ่มเพาะความเชื่อ เป็นโรงเรียนชีวิตแรกของลูกๆ ทรงเน้นว่า พระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระศาสนจักรท้องถิ่น วัด ต้องให้การอภิบาลครอบครัวเป็นงานสำคัญพิเศษ ต้องอภิบาลครอบครัวทั้งครบ คำนึงถึงทั้ง 3 มิติของการอภิบาลครอบครัว กล่าวคือการเตรียมเด็ก เยาวชนสู่กระแสเรียก การเสริมสร้างชีวิตคู่สามีภรรยาและการเยียวยาครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก และสนับสนุนให้ ครอบครัวอภิบาลครอบครัว
ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981)
พระศาสนจักรประเทศไทย
คุณพ่อ ยอห์น อุลลิอานา SDB. เจ้าอาวาส และคุณพ่อ ยอห์น ตามาโย SDB. คุณพ่อผู้ช่วยวัดนักบุญยอแซฟ อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี พร้อมกับคณะร่วมดำเนินงานอภิบาลครอบครัว จัดกิจกรรม “สัมมนา ฟื้นฟูชีวิตครอบครัว” ครั้งแรก วันที่ 20-22 พ.ย. 2524 (1981) และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ช่วงปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) – 2528 (ค.ศ. 1985)
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้มีมติ ตั้งคณะกรรมการคาทอลิก เพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว (สชค.) ดำเนินการภายใต้ กรรมาธิการฝ่ายสังคม สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
สำนักงานเลขาธิการ ตั้งอยู่ที่ อาคารศูนย์กลางเทวา ซอยแสนสุข ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2016 ถึงปี พ.ศ. 2540)
ภารกิจหลักขององค์กร
ให้ความรู้และส่งเสริมการวางแผนครบครัว โดยให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว แบบวิธีธรรมชาติ (NFP) ดำเนินงานต่อเนื่องจาก โครงการส่งเสริมชีวิตครอบครัว ของสภาคาทอลิกเพื่อการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากองค์กรการกุศลระหว่างประเทศ อาทิเช่น องค์กร MISSIO และ MISEREOR (German Catholic Bishops’ Organization for Development Cooperation.)
ผู้รับผิดชอบองค์กร
คณะกรรมการคาทอลิก เพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว (สชค.) ดำเนินการภายใต้ กรรมาธิการฝ่ายสังคม สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย คณะกรรมการประกอบด้วย พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช คณะแพทย์ ผู้นำฆราวาส และมีอาสาสมัคร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ร่วมดำเนินงาน
ประธานคณะกรรมการอำนวยการ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต (พ.ศ. 2525)
รองประธาน และประธานคณะกรรมการบริหาร คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพยอาสน์ (พ.ศ. 2525-2527)
จิตตาภิบาล คุณพ่อแบอร์นาร์ด กิลแมง M.E.P (พ.ศ. 2525-2546)
เลขาธิการ นายรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ (พ.ศ. 2525-2527)
ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำ และอาสาสมัครจากสังฆมณฑลต่างๆ จำนวนมากร่วมดำเนินงาน
ช่วงปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) – 2553 (ค.ศ. 2010)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว กำหนดแผนงาน “แผนการสร้างกลุ่มครอบครัวชุมชน (งานอภิบาลครอบครัว) พ.ศ.2529-2535 อภิบาลครอบครัวทั้งครบ โดยกำหนดเป้าหมาย การสร้างเครือข่ายอภิบาลครอบครัว ส่งเสริมกลุ่มครอบครัวระดับวัดในสังฆมณฑลต่างๆ โดยได้ขออนุญาตนำกิจกรรม “สัมมนาฟื้นฟูชีวิตครอบครัว” ของวัด นักบุญยอแซฟ บ้านโป่งที่เริ่มเป็นโครงการนำร่อง สร้างผู้นำฆราวาส ครอบครัวอภิบาลครอบครัว
การดำเนินงานตาม “แผนสร้างกลุ่มครอบครัวชุมชน (งานอภิบาลครอบครัว) พ.ศ.2529-2535 ดำเนินการเสริมต่อจากการดำเนินงานที่เริ่มจาก วัดนักบุญยอแซฟ บ้านโป่ง มีผู้เข้าร่วมรุ่นแรก 7 คู่ ได้พัฒนาขยายไปยังสังฆมณฑลต่างๆ ทุกสังฆมณฑลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มีผู้เข้าร่วมกระบวนการถึงปัจจุบันรวมจำนวนประมาณ 13,500-15,000 คู่ ผลการดำเนินงาน ช่วยคู่สามีภรรยา และครอบครัวที่เข้าร่วมกระบวนการตามแผนงาน มีความสัมพันธ์ อบอุ่น เข้มแข็ง มั่นคง ดีขึ้น และที่สำคัญได้สร้างผู้มีจิตอาสาอภิบาลครอบครัวที่เข้มแข็ง จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน ในสังฆมณฑลต่างๆ และยังคงร่วมงานอภิบาลครอบครัวอยู่ถึงปัจจุบัน (อ้างถึง การถอดบทเรียน สังเคราะห์องค์ความรู้ “โครงการฟื้นฟูชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งและมั่นคง (กระบวนการสัมมนาฟื้นฟูชีวิตครอบครัว) โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ และคณะ เมื่อกุมภาพันธ์ 2551 และการทบทวนการดำเนินงานคณะทำงาน แผนยุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2563-2567) แม้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง และไม่เป็นไปตามแผนงานในหลายสังฆมณฑลในเวลาต่อมา จึงมีการทบทวน และกำหนดแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
คณะผู้บริหาร ในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2525-2553 (ค.ศ. 1982-2010) ประกอบด้วย
- ประธานคณะกรรมการอำนวยการ ตามลำดับ
พระสังฆราช ลอเรนซ์ คาย แสนพลอ่อน (พ.ศ. 2525-2546)
พระสังฆราช ยอห์นบอสโก ปัญญา กฤษเจริญ (พ.ศ. 2546-2549)
พระสังฆราช ยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์ (พ.ศ. 2550-2552)
พระสังฆราช ซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี (พ.ศ. 2552-………….)
- รองประธาน และประธานคณะกรรมการบริหาร ตามลำดับ
คุณพ่อ ชัยศักดิ์ ศรีทิพย์อาสน์ (พ.ศ. 2525-2527)
คุณพ่อ ประสพ เจริญนิตย์ (พ.ศ. 2528-2530)
คุณพ่อ วีระชน นพคุณทอง (พ.ศ. 2531-2537)
คุณพ่อ ไพฑูรย์ หอมจินดา (พ.ศ. 2538-2540)
คุณพ่อ เศกสม กิจมงคล (พ.ศ. 2541-2543)
คุณพ่อ สุรพงษ์ นาแว่น (พ.ศ. 2544-2546)
- เลขาธิการ ตามลำดับ
นาง อุษณีย์ นานาศิลป์ (พ.ศ. 2528-2536)
นาย ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ (พ.ศ. 2536)
คุณพ่อ วีระชน นพคุณทอง (พ.ศ. 2537)
คุณพ่อ กมล เสมอพิทักษ์ (พ.ศ. 2538-2540)
นาย โสภี สุขสำราญ (พ.ศ. 2541-2546)
คุณพ่อ ไพโรจน์ หอมจินดา (พ.ศ. 2547)
คุณพ่อ บุญส่ง หงษ์ทอง (พ.ศ. 2548-2551)
ดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำ และอาสาสมัครจากสังฆมณฑลต่างๆ จำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994)
สมเด็จพระสันตะปาปา น. ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงออก “สารถึงบรรดาครอบครัว” ทรงชี้ว่าครอบครัวเป็นวิถีชีวิตของมนุษยชาติ และของพระศาสนจักร คำมั่นสัญญาของคู่สมรส ความสัมพันธ์ของสามีภรรยา ความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิกในครอบครัวด้วยความรัก การดำเนินชีวิตครอบครัว ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญา และความเป็นพ่อแม่ที่รับผิดชอบ เป็นภาพสะท้อนของความเป็นหนึ่งของพระตรีเอกภาพ
ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย มีมติปรับโครงสร้างองค์กร ภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย กำหนดการดำเนินงานเป็นคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกครอบครัว ภายใต้กรรมาธิการฝ่ายอภิบาล สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ช่วงปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) – ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
ผู้รับผิดชอบองค์กร
คณะกรรมการอำนวนการและคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย พระสังฆราช ผู้แทนสภาพระสังฆราช คณะพระสงฆ์ ผู้อำนวยการแผนกครอบครัวทุกสังฆมณฑล ผู้แทนฆราวาสจากทุกสังฆมณฑล ผู้แทนองค์กรเพื่อครอบครัว และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ
สำนักงานอำนวยการแผนกครอบครัว ตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักสภาพระสังฆราชฯ เลขที่ 122/11 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี 14 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร (สำนักงานย้ายจาก อาคารศูนย์กลางเทวา ดินแดง เมื่อปี 2540 ถึงปัจจุบัน)
ประธาน คณะกรรมการอำนวยการ
พระสังฆราช ซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี (พ.ศ. 2552-………….)
รองประธาน และผู้อำนวยการ
คุณพ่อ เฉลิม กิจมงคล (พ.ศ. 2552 -2563)
ภารกิจขององค์กร
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกครอบครัว ดำเนินงานอภิบาลครอบครัว ต่อเนื่องตามแผน “แผนสร้างกลุ่มครอบครัวชุมชน” (งานอภิบาลครอบครัว) โดยรับการสนับสนุนงบประมาณ จากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
การดำเนินงานในช่วงระยะเวลานี้
- ด้านการประชุม ชุมนุม สัมมนา
- ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร
- ชุมนุมคณะผู้ปฏิบัติงานจากสังฆมณฑล องค์กรที่ทำงานด้านครอบครัว เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน เป็นประจำทุกปี
- ส่งคณะศึกษาและดูการดำเนินงานในต่างประเทศ
- ส่งคณะเข้าร่วมการประชุมเรื่องครอบครัว กับสหพันธ์พระสังฆราชแห่งเอเซีย ( FABC )
- ส่งคณะซึ่งประกอบด้วย พระสังฆราช พระสงฆ์ และฆราวาส เข้าร่วมงานชุมนุมครอบครัวโลก ที่จัดขึ้นในประเทศต่างๆทุกๆ 3 ปี เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
- ประชุมคณะทำงานทบทวนการดำเนินงานและร่างแผนยุทธศาสตร์ งานอภิบาลครอบครัว ปี พ.ศ. 2563-2567
- ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการอภิบาลครอบครัว โครงการต่างๆ ตามแผนงาน
- จัดอบรมครูสอนเพศสาสตรศึกษาในโรงเรียน
- อบรมพิธีกรสัมมนาฟื้นฟูชีวิตครอบครัว
- อบรมบุคลากรด้านการวางแผนครอบครัววิธีธรรมชาติ
- ด้านการจัดทำหนังสือ เอกสาร คู่มือ
- คู่มือให้การอบรมเยาวชนสู่กระแสเรียก ระยะไกล ระยะใกล้ และระยะใกล้ชิด
- คู่มือเสวนา ครอบครัวก้าวไปด้วยกัน
- จุลสาร ครอบครัวนั้นสำคัญล้ำ ส่งเสริมการเข้าสู้ชีวิตสมรส
- เอกสาร แผนยุทธ์ศาสตร์ งานอภิบาลครอบครัว ปี พ.ศ. 2563-2567
- โปสเตอร์รณรงค์ วันครอบครัว โอกาสวันครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)
สมัชชาพระสังฆราช นำโดย สมเด็จพะสันตะปาปา ฟรังซิส ได้ศึกษาสถานการณ์ของสถาบันครอบครัว ด้วยความห่วงใย ที่สุดพระองค์ท่านได้ออก สมณลิขิตเตือนใจ “ความปีติยินดี แห่งความรัก กล่าวถึงความรักในครอบครัว” (AMORIS LAETITIA) ในสมณลิขิตฉบับนี้พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงพระสมณสาส์น “ชีวิตมนุษย์” (Humane Vita) และสมณสาส์น “ครอบครัวคริสตชน ในโลกปัจจุบัน” (FAMILIARIS CONSORTIO) และได้ขยายความให้ชัดเจน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทรงให้ความคิด และความห่วงใยต่อสถาณการณ์ปัจจุบัน ความกังวลใจของเยาวชน ต่อชีวิตสมรสของตนในอนาคต การเข้าสู่ชีวิตสมรสช้าลง หรือไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตสมรสแบบผูกพัน ชีวิตคู่ของสามีภรรยา ที่เปราะบาง การหย่าร้าง และการหาคู่ครองใหม่ มีจำนวนสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ห่างเหินจากชุมชนพระศาสนจักร ขาดการร่วมศาสนกิจต่างๆ และการมีส่วนร่วมกับพระศาสนจักร พระองค์ทรงเน้นถึงความสำคัญ ให้เข้าใจ เห็นใจ ห่วงใยต่อเยาวชน และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากกรณีต่างๆ ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาด้วยความรัก และความเข้าใจ
ช่วงปี พ.ศ. 2560-2562 (ค.ศ. 2017-2019)
คณะกรรมการคาทอลิก เพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกครอบครัว กำหนดแผนงาน โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ การอภิบาลครอบครัวระดับวัด สังฆมณฑล และองค์กรเพื่อครอบครัวต่างๆ
ช่วงปี พ.ศ. 2563-2567 (ค.ศ. 2020-2024)
คณะกรรมการฯ ร่วมกำหนด แผนยุทธศาสตร์ งานอภิบาลครอบครัว ปี พ.ศ. 2563-2567
เป้าหมาย “ครอบครัวเราก้าวไปด้วยกัน ครอบครัวอภิบาลครอบครัว” และการสร้างกลุ่มอภิบาลครอบครัวระดับวัด
ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2564….. (ค.ศ. 2021 -……)
ผู้รับผิดชอบองค์กร
คณะกรรมการอำนวยการฯ ประกอบด้วย พระสังฆราช ผู้แทนสภาพระสังฆราช พระสงฆ์ ผู้อำนวยการแผนกครอบครัวทุกสังฆมณฑล ผู้แทนฆราวาสจากทุกสังฆมณฑล ผู้แทนองค์กรเพื่อครอบครัว และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ
ประธาน คณะกรรมการอำนวยการ
พระสังฆราช ซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี (พ.ศ. 2552-…)
รองประธาน และผู้อำนวยการ
คุณพ่อ ภูวนารถ แน่นหนา (พ.ศ. 2564 –…)