Amoris Laetitia | วันครอบครัวแห่งชาติ โดย คุณพ่อวัชรพล กู้ชาติ

เนื่องในโอกาสวันครอบครัว (ไทย) ซึ่งมาประจวบเหมาะกับสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ก็ขอถือโอกาสแบ่งปันข้อความจาก Amoris Laetitia (AL) ในส่วนที่สัมพันธ์กับทั้งสองเหตุการณ์นี้

ใน AL บทที่ 9 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ยกให้กับเรื่องของ “ชีวิตจิตคู่สมรส” ซึ่งถือเป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้บรรยายมาก่อนในบทก่อนหน้าทั้งหมด โดยระบุว่า “การแต่งงานเป็นหนทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์” ในอดีต เรื่องของ “กระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์” ถูกยกให้เป็นของพระสงฆ์ นักบวช แต่ตั้งแต่สังคายนาวาติกันที่ 2เป็นต้นมา “กระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์” นั้น มีไว้สำหรับ “ผู้รับศีลล้างบาปทุกคน” ซึ่งถูกเรียกให้มาเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าในโลก”

ขอทบทวนคำสอนเล็กน้อย “ศีลศักดิ์สิทธิ์” คือ “เครื่องหมายที่มองเห็นได้ของความจริง (พระหรรษทาน) ที่มองไม่เห็น (แต่รับรู้ได้ด้วยประสบการณ์)” ดังนั้น การเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าในโลก” ก็คือ การทำให้ผู้อื่นได้เห็นการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าผ่านทางการดำเนินชีวิตของเรา

“ครอบครัวของมนุษย์” แม้จะเป็นเพียง “ภาพเปรียบเทียบที่ไม่สมบูรณ์แบบ” (AL 73) ของ ความรักที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า (พระตรีเอกภาพ) แต่ การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า “ในความจำกัดด้านความสัมพันธ์ของสามีภรรยา” นี้ (AL 73) ทำให้มั่นใจได้ว่า ความรักของพวกเขานั้น แม้จะไม่ได้สมบูรณ์ครบถ้วน แต่จะเป็น “ความรักแท้” ที่ไม่โกหก และไม่เสแสร้ง และโดยผ่านทาง “อากัปกิริยาที่เป็นจริงและเป็นรูปธรรมมากมาย” ของความรักของพวกเขา ที่ทำให้ “ความสัมพันธ์เข้าสู่วุฒิภาวะ” และ เช่นนี้เอง “พระเจ้าได้พบกับที่ประทับของพระองค์” ท่ามกลางพวกเขา ในความหลากหลายของของขวัญและการพบปะกันที่พวกเขามีให้แก่กันและกัน (cf. AL 315)

ดังนั้น ชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายกับชีวิตของการเติบโตฝ่ายจิตในการเป็นเครื่องหมายแห่งธรรมลำลึกของการประทับอยู่ของพระเจ้านั้น ไม่ได้ถูกแยกออกจากกัน

“ชีวิตจิตของคู่สมรส” (การพบปะกับพระเจ้า) เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

การเดินทางในชีวิตประจำวันของคู่สมรสถูกวางไว้ในธรรมล้ำลึกปัสกา (พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ) เพื่อไปสู่ ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากขึ้นระหว่างคู่สมรสด้วยกันเอง และกับพระเป็นเจ้า และเมื่อได้มีส่วนร่วมกับธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าแล้ว พวกเขาได้เปลี่ยนความยากลำบากและความทุกข์เป็นการถวายความรักแด่พระเป็นเจ้า

ชีวิตประจำวันจึงเป็น “พื้นที่ทางเทววิทยาซึ่งเราสามารถพบกับการประทับอยู่อย่างล้ำลึกของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ”

แน่นอนว่า พระสันตะปาปาคงไม่ได้พูดถึงแค่ชีวิตประจำวันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงย้ำว่า “การภาวนาร่วมกันในครอบครัวเป็นเครื่องมือพิเศษในการแสดงถึงความเชื่อในธรรมล้ำลึกปัสกานี้และยังเป็นการทำให้ความเชื่อนี้แข็งแกร่งมากขึ้น” ด้วย (AL318) การที่ทุกคนในครอบครัวมาภาวนาร่วมกันนั้น เป็นการมอบสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเอาไว้ในพระหัตถ์ทรงอำนาจของพระเจ้า และการเดินทางของการภาวนานี้จะต้องเข้าสู่จุดสูงสุดในการฉลองศีลมหาสนิท (พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ) ในวันอาทิตย์

และดังนี้เอง ชีวิตจิตครอบครัว และ ธรรมล้ำลึกปัสกา จึงเป็นเรื่องเดียวกัน