บทความเรื่องครอบครัว โดย คุณพ่อวัชรพล กู้ชาติ

บทความเรื่องครอบครัวโดยคพ.วัชรพล กู้ชาติ

สุขสันต์วันสงกรานต์ 2565

ปัสกาถือเป็นวันครอบครัวของชาวอิตาเลียน สงกรานต์ถือเป็นวันครอบครัวของไทย ความสำคัญของครอบครัวโดยจิตสำนึกของคนทั่วๆไป ก็คงไม่มีใครปฏิเสธ ทุกคนอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น แม้ในความเป็นจริงครอบครัวที่แต่ละคนอยู่ อาจจะไม่ได้มีความอบอุ่นในระดับที่เท่าเทียมกัน แต่ละครอบครัวมีลักษณะเฉพาะตัวของตัวเอง

พูดแบบนี้เหมือนเป็นการบอกว่า ไหนตอนแรกบอกว่าครอบครัวทุกครอบครัวเหมือนกัน แต่สุดท้ายทำไมกลับบอกว่าไม่เหมือนกัน แล้วจะเอายังไงกันแน่?

ก่อนจะให้คำตอบ ก็ขอให้คนอ่านถามตัวเองก่อนว่า ถ้าหลับตานึกภาพครอบครัวในฝัน เราคิดถึงอะไร?

หลายคนคงนึกภาพครอบครัวใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ลูกหลานเหลน พร้อมหน้าพร้อมตา รวมกัน 3 รุ่นอายุเป็นอย่างน้อย บางคนอาจจะนึกภาพครอบครัวเดี่ยว พ่อ แม่ ลูก

แต่… ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ คงมีภาพครอบครัวอีกหลายแบบ ที่แต่ละคน “อยากออกแบบเอง” โดยไม่ขึ้นกับแบบแผนที่เคยถือตามกันมา ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ฝากไว้ในส่วนหนึ่งของความเป็นศาสนา

เรากำลังอยู่ในโลกที่มีแนวคิดแบบ “ฆราวาสนิยม” (secularism) จริงๆ ก็ไม่ชอบคำแปลนี้เท่าไหร่ แต่ก็ขอใช้ไปพลางๆก่อน เพราะยังหาคำแปลอื่นไม่ได้

ฆราวาสนิยม มีหลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ 1) ปัจเจกนิยม (individualism) 2) ทำลายมนต์ขลังของสิ่งต่างๆ (disenchantment) 3) สร้างระบอบการเมืองบนรากฐานของทั้ง 2 องค์ประกอบแรก

ปัจเจกนิยม หรือ พูดง่ายๆว่า เสรีนิยมสุดโต่ง หรือ บางที อาจจะเปรียบเทียบได้ว่า เป็นแนวคิดแบบ “ตัวกูของกู” ไม่ใช่ในความหมายเชิงบวก แต่ความหมายเชิงลบ คือ ทำอะไรตามความอยากของตัวเองเป็นใหญ่ เหตุผลก็มีเอามาใช้ แต่กลับเป็นเหตุผลเชิงเครื่องมือ (instrumental reason) ไม่ใช่เหตุผลเพื่อแสวงหาความจริงทางเหตุผล และเพื่อเหตุผลในตัวมันเองในทางทฤษฎี หรือแม้แต่ เหตุผลปฏิบัติเพื่อแสวงหาการกระทำที่ถูกต้องสอดคล้องกับเหตุผล แต่เป็นลักษณะของเหตุผลเชิงข้ออ้าง เอาอะไรมาอ้างก็ได้ เพื่อทำให้สิ่งที่ตัวเอง “อยาก” หรือ “ปรารถนา” กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งๆที่ในความจริงแล้วไม่ถูกต้อง

การทำลายมนต์ขลังของสิ่งต่างๆ ก็คือ การทำให้คนก็ดี ธรรมชาติก็ดี ขาดมิติของสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของผัสสะทางกาย (transcendence) เมื่อเอา transcendence ออกจากคน และธรรมชาติ คนและธรรมชาติก็ “หมดความหมายในตัวเอง” กลายเป็น “มีความหมายก็ต่อเมื่อ” มีประโยชน์กับบางคน และถูกบางคนคนนั้น “ให้ความหมาย” ตามที่ตนปรารถนา คน และ ธรรมชาติ จึงไม่ได้รับความเคารพอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ขบวนการ “เอาศาสนาออกไปจากวัฒนธรรม” (exculturation) ประสบความสำเร็จ ขบวนการนี้เกิดขึ้นถึงขนาดที่ว่ามีการเสนอให้เปลี่ยน คริสตศักราช (Christ’s era) เป็น สามัญศักราช (Common era)

การสร้างระบอบการเมืองบนรากฐานของทั้ง 2 องค์ประกอบแรก ก็คงเดาได้ไม่ยาก ว่าสังคมจะออกไปในลักษณะใด จริงๆ ไม่ต้องจินตนาการก็ได้ เพราะ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และยิ่งวันยิ่งชัดเจนมากขึ้น

เข้าเรื่อง…

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับครอบครัว?

เกี่ยวทุกอย่าง…

ครอบครัวคือรากฐานของสังคม และ ของ “พระศาสนจักร” ในขณะที่ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม ก็เป็นพระศาสนจักรระดับบ้าน การอบรมสมาชิกของสังคมและสมาชิกของพระศาสนจักรถือกำเนิดในบ้าน พ่อแม่เป็นครู และ ครูคำสอน คนแรกของลูก เด็ก เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมด้วยการเรียนรู้จากชีวิตสังคมระดับย่อยในบ้าน และเรียนรู้ความเชื่อ ก็จากคนในบ้าน

แต่ตอนนี้ “ภาพของบ้าน” ที่เคยเข้าใจกันในอดีตกำลังถูกคุมคาม มี “เผด็จการทางความคิด” ยุคใหม่ ที่นำเสนออะไรก็ได้ตามที่ตนเองปรารถนา และเมื่อใดก็ตามที่มีคน “วิพากษ์” สิ่งที่นำเสนอมานั้น ก็จะถูกเจ้าของความคิด หรือ กลุ่มซึ่งยึดถือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ออกมาไม่ใช่เพื่อให้ความกระจ่างในความคิดเห็นของตนเอง แต่ออกมาใช้เหตุผลอื่นๆ เบี่ยงประเด็น และทำเหมือน “พูดคนละเรื่องเดียวกัน” อยู่ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราเห็นเหตุการณ์แบบนี้บ่อยขึ้น

เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางความคิดมากเกินไป ก็ขอหยุด มนุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรม ไว้แค่นี้ก่อน

ทีนี้เรามาดูว่า ครอบครัวคืออะไร ตามคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก?

  1. พระศาสนจักรคาทอลิก ไม่เคยแยกครอบครัวออกจากการแต่งงาน
  2. การแต่งงานแบบคาทอลิก คือ monogamous eterosexual indissoluble marriage (การแต่งงานของชายคนหนึ่ง กับหญิงคนหนึ่ง ที่ซื่อสัตย์ และดำรงอยู่ตลอดไป)
    3.เป้าหมายของการแต่งงานคือ ความรักระหว่างสามีภรรยา และ การมีบุตร
  3. การให้กำเนิดบุตร ไม่ใช่แค่การให้กำเนิดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้การศึกษาอบรมทั้งทางสังคมและความเชื่อทางศาสนา
  4. ความรักระหว่างสามีภรรยานั้นคือการที่ต่างฝ่ายต่างมอบตัวเองทั้งครบให้แก่กันและกัน. และเป็นความรักที่พัฒนาต่อเนื่องกลายเป็นความรักเสียสละ และแน่นอนว่า ต่างฝ่ายต่างช่วยกันนำกันและกันไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์
  5. การแต่งงานของผู้รับศีลล้างบาปทั้งสองฝ่าย กลายเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาได้รับพระหรรษทานจากพระให้สามารถดำเนินชีวิตตามที่ถูกเรียกร้อง จากพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างมนุษย์มาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ให้เป็นชายและหญิง และได้วางแบบไว้ให้ทั้งสองกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
    (คำสอนเรื่องการแต่งงานของพระศาสนจักรไม่ได้มีแค่ที่เขียนไว้ตรงนี้ หากท่านใดอ่านแล้วพบว่ารู้สึกไม่ชัดเจนหรือไม่ครบ ก็ขอให้ปล่อยผ่านไปก่อน ในรายละเอียดต้องอธิบายแต่ละข้อกันอีกไม่น้อย)

มาถึงตรงนี้ หลายๆท่านคงเห็นแล้วว่า

ระหว่าง “ฆราวาสนิยม” กับ “คาทอลิก” มีความแตกต่างกัน เพราะ “ฆราวาสนิยม” ต้องการปลดปล่อยตัวเองออกจาก “ความเป็นคาทอลิก” ที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกอย่างที่แทบจะเรียกว่าแยกกันไม่ออกในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้ กระบวนการฆราวาสนิยมเดินหน้าไปค่อนข้างมาก และเป็นอันตราย ไม่ใช่ต่อคาทอลิก แต่ต่อมนุษยชาติเอง

ศาสนาอื่นๆ ก็กำลังเผชิญสถานการณ์อันเดียวกันนี้ “มนต์ขลังที่สาเหตุสมผลของศาสนา” ถูกแทนที่ด้วย “มนตร์ขลังอันไร้เหตุผล” ที่ผู้คนพากันหลงเชื่อ

ศาสนาเองจำเป็นต้องกลับไปหาจุดเริ่มต้น และแก่นแท้ของตัวเองให้พบ เพื่อจะได้ให้คำตอบแก่คนในยุคปัจจุบัน เป็นความท้าทาย ไม่ใช่ของบรรดานักบวชหรือผู้นำศาสนาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนที่ยังรักความเป็นมนุษย์ และยังเชื่อว่าศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญ ต้องช่วยกันแสวงหาคำตอบด้วยการเอาคำสอนของศาสนามาปฏิบัติ ตรวจสอบความเที่ยงตรงด้วยตัวเอง กล้าให้ชีวิตตัวเองเป็นคุณูปการ ดำเนินชีวิตอย่างสมเหตุสมผลในเป้าหมายของการแสวงหาความจริง และความหมายของชีวิต หาด้ายแดงที่ร้อยเรียงทุกอย่างในชีวิตเข้าด้วยกันให้พบ

นี่คือความท้าทาย…

ความท้าทายนี้เราไม่ได้เผชิญคนเดียว คริสตชนทุกวันนี้คงไม่ต่างจาก อัครสาวกในห้องชั้นบน อัครสาวกที่เดินไปไหนมาไหนกับพระเยซูเจ้าในขณะที่พระองค์มีชีวิตอยู่ เห็นอัศจรรย์มากมาย แล้วก็คิดหวังว่าวันหนึ่งจะได้นั่งข้างขวาหรือข้างซ้าย แต่พอเห็นพระองค์ต้องตายอย่างนักโทษ ก็ผิดหวัง ไม่ใช่แค่ผิดหวังแต่ทุกอย่างพังทลายไปหมด ทำอะไรไม่ถูก สิ้นหวัง เปโตรก็ชวนกันกลับไปหาปลาเหมือนเดิม แต่เมื่อได้รับพระจิตเจ้า ก็เข้าใจว่า หนทางที่พระเยซูเจ้าวางไว้ คือ ทางเดียวกันที่พวกเขาต้องตามพระองค์ไป พระจิตเจ้าแห่งความเร่าร้อนในความรักที่มีต่อผู้อื่น ความกระหายความรอดที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อหญิงชาวสะมาเรียที่พระองค์ขอนำ้มาดื่ม แล้วนำเธอสู่ความรอด การเอาตัวเองไปยังหญิงที่กำลังถูกเอาหินขว้างเพราะถูกจับได้ว่าผิดประเวณี อัศจรรย์ที่พระองค์ทำในวันสับบาโตที่ทำให้พวกฟาริสีโกรธเคือง ทุกอย่างที่พระองค์ทำให้คนอื่นนี้แลกมาด้วยชีวิตของตัวเองในที่สุด

บรรดาอัครสาวกได้มอบชีวิตตัวเองเช่นกันในการมอบความเชื่อและความรักของพระเยซูเจ้าให้แก่เรา “ของที่ได้มาเปล่าๆ ก็จงให้ไปเปล่าๆ” ความรักที่ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนี่แหละคือสิ่งที่พระเยซูเจ้าบอกให้เราทำเมื่อพระองค์สั่งอัครสาวกว่า “จงไปทั่วโลกและประกาศข่าวดีแก่ทุกคน”

ขอพระอวยพรทุกท่าน

คพ.วัชรพล กู้ชาติ
Roma 14.04.2016